พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (แก่งกระจาน)
2023-05-23 09:31:45
ประเภทของแหล่ง
ธรรมชาติ
กลุ่มของแหล่ง
แหล่งมรดกโลก
รายละเอียด
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นกลุ่มป่าที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทิศตะวันตกของกลุ่มป่าแก่งกระจานจึงมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เชื่อมต่อเป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าในเขตตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ของประเทศพม่า พื้นที่ทั้งกลุ่มป่ารวมประมาณ 2,938,910 ไร่ (4,702 ตร.กม.) ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน แต่ทั้งนี้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เลือกดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์หลักที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มป่า
เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 1,821,688 ไร่ (2,915 ตร.กม.) เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี เป็นพื้นที่ที่หลายเขตภูมิพฤกษ์ (Plant Geographical Distribution) มาบรรจบกัน และตั้งอยู่บนรอยต่อของหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ย่อย (Zoogeographical Sub-region) เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี พ.ศ. 2548 มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง (Panthera tigris corbetti) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 100 ชนิด นก 545 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 112 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 55 ชนิด และปลา 101 ชนิด
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ร่วมพัฒนางานวิชาการด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า พัฒนาระบบสำรวจติดตามประชากรสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภายใต้ความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และส่งเสริมการจัดการพื้นที่อนุรักษ์บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยกิจกรรมในพื้นที่เริ่มต้นตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่สิ้นสุดและบรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว ได้แก่ โครงการสำรวจสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เพื่อการจัดการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Recce Transect Survey) และโครงการประเมินชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า (Living Landscape Species) โครงการที่ยังมีดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการสำรวจเสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trapping) โครงการอนุรักษ์ช้างป่าและแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict) และโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพงานป้องกันพื้นที่อนุรักษ์ด้วยระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System)
พื้นที่
1. อช. แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 1,821,687.84 ไร่
2. อช. กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 605,625 ไร่
3. อช. เขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 61,300 ไร่
4. อช. หาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 23,750 ไร่
5. อช. เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี พื้นที่ 205,463.89
6. ขสป. แม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี พื้นที่ 305,820 ไร่
7. ขหล. ถ้ำค้างคาว-เขาช่องพราน จ. ราชบุรี พื้นที่ 305,820 ไร่
8. ขหล. เขาประทับช้าง จ. ราชบุรี พื้นที่ 1,268 ไร่
9. ขหล. เขากระปุก-เขาเตาหม้อ จ. เพขรบุรี พื้นที่ 4,850 ไร่
10. ขหล. ชะอำ จ. เพชรบุรี พื้นที่ 622 ไร่
11. ขหล. วัดถ้ำระฆัง-เขาพระนอน จ.ราชบุรี พื้นที่ 106 ไร่
ลักษณะทางกายภาพ
ประกอบไปด้วยทิวเขา ทิวเขาตะนาวศรี
ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก
สภาพป่า ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
สัตว์ป่าที่เด่น ช้าง สมเสร็จ วัวแดง กระทิง หมาใน เสือโคร่ง เก้งหม้อ เลียงผา ผีเสื้อนานาชนิด เขียดแลว หรือกบทูด และนกกะลิงเขียดหางหนาม
พิกัดที่ตั้ง
N 12 51 56 E 99 24 0.6
วันที่ขึ้นทะเบียน
2021 / 2564
คุณค่าความเป็นสากล
10 - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีความโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
ข้อมูลที่อยู่
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 76170
พื้นที่(ไร่) : 3,030,570 ไร่ (484,891.2 เฮกตาร์)
ความสูงจากระดับน้ำทะเล (เมตร) :
แหล่งมรดกโลก
ธรรมชาติ
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน
เอกสารทั่วไป
2022-09-05 06:20:08 รายละเอียด
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ
เอกสารทั่วไป
2022-08-29 03:52:24 รายละเอียด
แผนที่พื้นที่นำเสนอ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน
เอกสารทั่วไป
2022-02-25 05:15:34 รายละเอียด
แผ่นพับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (THAI)
เอกสารทั่วไป
2022-02-01 04:08:02 รายละเอียด
แผ่นพับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (FRANCE)
เอกสารทั่วไป
2022-02-01 04:07:52 รายละเอียด
แผ่นพับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ENG)
เอกสารทั่วไป
2022-02-01 04:07:42 รายละเอียด
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย
26/07/2021 - 26/07/2021
กว่า 16 ปี ที่ประเทศไทยมุ่งมั่น ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 10 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือ สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน อยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese
ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก
26/07/2021 - 26/07/2021
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กว่า 6 ปี ที่ประเทศไทยมุ่งมั่น ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีการนำเสนอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2564 นี้ ซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2564 โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ และเป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก
โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร ประเทศไทยในฐานะเจ้าของแหล่ง จะต้องปกป้องรักษาแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้คงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลไว้ให้ลูกหลานต่อไป ซึ่งการที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในประเทศเกิดการตระหนัก รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วย โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัคราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส และดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นรองหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้ง ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสอดคล้องกับกฎหมาย นโยบาย มติ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยจะรักษาแหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ให้คงไว้ และสามารถส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป
การประชุมทางไกล วันที่ 5 ของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44
21/07/2021 - 21/07/2021
การประชุมวันที่ 5 (21 กรกฎาคม 2564) ของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัคราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส และ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม โดยมีวาระการประชุม คือ การรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
ในการนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ได้ลงคะแนนเสียงให้ถอดแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม Liverpool – Maritime Mercantile City ของสหราชอาณาจักรออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก และได้มีการพิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน ๓ แหล่ง ได้แก่ Mausoleum of Khoja Ahmed Yasawi (คาซัคสถาน) Kathmandu Valley (เนปาล) และ Royal Palaces of Aboney (เบนิน)
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
รายละเอียดหัวหน้าหน่วยงาน : -
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ : -
ชื่อผู้ติดต่อ : -
หมายเลขติดต่อ : 0 2561 0777, 0 2579 6666
อีเมลสำหรับติดต่อ : webmaster@dnp.mail.go.th
หน้าที่/ความรับผิดชอบ :
-
เว็บไซต์หน่วยงาน : http://portal.dnp.go.th
ข้อมูลที่อยู่
เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10900