ภารกิจและชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลก
- เสนอแนะนโยบาย/แผนงาน และจัดทำโครงการเพื่อการอนุรักษ์ คุ้มครองแหล่งมรดกโลกของประเทศ
- ดำเนินงานตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (World Heritage Convention)
- พิจารณาเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีแหล่งมรดกโลก รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมแหล่งมรดกดังกล่าวให้เหมาะสม ตามสถานการณ์
- ประสานการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกโลกและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (National Focal Point)
- ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพันธกรณีอนุสัญญาคุ้มครอง มรดกโลก กับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การยูเนสโก (UNESCO) ศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (The International Council on Monuments and Sites: ICOMOS) สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (The World Conservation Union: IUCN) และศูนย์นานาชาติด้านการศึกษาซึ่งการสงวนและฟื้นฟูเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรม (The International Centre for Study of the Preservation and Restoration of Cultural Properties: ICCROM) เพื่อร่วมกันดำเนินการคุ้มครองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลก
- วิเคราะห์และกำหนดท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งประสานการดำเนินงานตามข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย
- ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และฝ่ายเลขานุการคณะทำงานเตรียมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ
- พิจารณาดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และคณะทำงานเตรียมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มอบหมาย
- ประสาน ติดตาม และกำกับการดำเนินโครงการ/กิจกรรมในพื้นที่มรดกโลก ทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายแผน แนวทาง มาตรการ และระเบียบปฏิบัติที่ได้จัดทำไว้
- ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
1. แหล่งมรดกโลก
สามารถตรวจสอบชุดข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ (https://www.onep.go.th/thai-world-heritage/) หรือ กดที่นี่เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล
2. แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของไทยที่บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
สามารถตรวจสอบชุดข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ (https://www.onep.go.th/tentative-list/) หรือ กดที่นี่เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล
หมายเหตุ
สามารถกดดูภาพรวมในรูปแบบ Dashboard ได้ที่
1. Dashboard แหล่งมรดกโลก
2. Dashboard แหล่งที่บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก แหล่งที่จะได้รับการคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในบัญชีมรดกโลกจะต้องมีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value; OUV) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างน้อย 1 ข้อจากที่ได้กำหนดไว้ทั้งหมด 10 ข้อตามแนวทางอนุวัติตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention ดังนี้
- เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง
- แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนบ้านเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
- เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม ที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว
- เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทาง ด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
- เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
- มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ที่เกี่ยวข้องกับความคิดหรือความเชื่อกับงานศิลปะและวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
- เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้
- เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นมาของโลกในช่วงเวลา ต่างๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สำคัญอันทำให้เกิดรูปลักษณ์ของแผ่นดินหรือลักษณะธรณีสัณฐาน หรือลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ
- เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์และพืช
- เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
หมายเหตุ ข้อที่ 1 - 6 สำหรับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
ข้อที่ 7 - 10 สำหรับแหล่งมรดกทางธรรมชาติ