แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (บ้านเชียง)
2024-01-31 07:17:56
ประเภทของแหล่ง
วัฒนธรรม
กลุ่มของแหล่ง
แหล่งมรดกโลก
รายละเอียด
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 60 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ก่อตั้งหลังการเสด็จประพาสเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2515 การเสด็จประพาสดังกล่าวได้กระตุ้นการสร้างสำนึกปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์ให้ความสำคัญและความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งกำลังประสบปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น
นับตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2518 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ให้กับชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งแห่งแรกของประเทศไทยในปี พุทธศักราช 2526 มูลนิธิจอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้มอบทุนสนับสนุนในการสร้างอาคารหลังที่ 2 ซึ่งถูกสถาปนาชื่อ เพื่อเป็นเกียรติแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและมีสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯเสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2530
ในปี พุทธศักราช 2549 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณตามโครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคอินโดจีน ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการหลังใหม่ เพื่อปรับปรุง และขยายพื้นที่การจัดแสดงนิทรรศการหลัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามของอาคารนี้ว่า อาคารกัลยาณิวัฒนา และโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2553
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
"แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง" เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย โบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่าง ๆ ที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงสังคมและวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจ วิทยาการและศิลปะอย่างแท้จริง และพัฒนาการเหล่านั้นได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมานับพัน ๆ ปี
วัฒนธรรมบ้านเชียงจึงนับว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับพันๆ ปี โดยมีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน รู้จักปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เริ่มแรกคือเมื่อประมาณ 5,600 ปีมาแล้ว รวมทั้งมีการจัดระบบเช่น การฝังศพเป็นประเพณีสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายสมัย นับเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเรื่องการจัดระบบสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เช่น "การผลิตภาชนะดินเผาด้วยฝีมือระดับสูง", "การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ" โดยเป็นการประดิษฐ์คิดค้นที่มีวิธีการเป็นของวัฒนธรรมบ้านเชียงเอง มิได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออินเดียตามที่เคยเข้าใจกัน
นอกเหนือไปจากโบราณวัตถุประเภทต่างๆ ทำจากวัสดุนานาชนิดที่ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องสังคมและเทคโนโลยีแล้ว การขุดค้นที่บ้านเชียงยังพบกระดูกสัตว์ชนิดต่างๆ และเปลือกหอยด้วย ซึ่งทำให้นักโบราณคดีสามารถเข้าใจ และอธิบายถึงวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงนั้นได้ จากหลักฐานการใช้เหล็กและจากกระดูกควายที่พบ นักโบราณคดีสรุปได้ว่ามนุษย์รู้จักการทำนาในที่ลุ่มและมีการไถนาแล้วเมื่อราวเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว ส่วนหลักฐานกระดูกสัตว์ต่าง ๆ และเปลือกหอยหลายชนิด นักโบราณคดีสามารถบอกได้ว่าสัตว์ชนิดใดน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง และสัตว์ชนิดใดเป็นสัตว์ที่ถูกล่าหรือจับมาเป็นอาหาร
นอกจากนี้ยังได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ในปีพุทธศักราช 2546 - 2548 ที่วัดโพธิ์ศรีใน ได้พบหลักฐานโครงกระดูกสัตว์ที่สำคัญแบบเต็มโครงสมบูรณ์ ได้แก่ โครงกระดูกควาย โครงกระดูกปลา และโครงกระดูกสุนัข เป็นต้น จากการวิเคราะห์เบื้องต้นโดย ดร.อำพัน กิจงาม นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสัตว์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงกระดูกควายที่พบว่า น่าจะเป็นควายที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน เนื่องจากกระดูกเท้ามีลักษณะผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการกดทับจากการใช้แรงงาน นอกจากนี้ ขณะดำเนินการขยายผนังหลุมขุดค้น เพื่อวางโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้พบโครงกระดูกสุนัขแบบเต็มโครงสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นสุนัขที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้เช่นกัน
โครงกระดูกสุนัขที่สมบูรณ์พบภายหลังจากขุดค้นทางโบราณคดี จนถึงระดับชั้นดินที่ไม่พบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์แล้ว และได้ขุดขยายผนังหลุมเพื่อวางโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และใช้เป็นผนังสำหรับทำหลุมขุดค้นจำลองการขุดค้นดังกล่าวได้ใช้วิธีการขุดค้นและเก็บข้อมูลแบบเดียวกับที่ใช้ภายในหลุมขุดค้น โดยขุดขยายออกไปจากขอบหลุมเดิมประมาณ 50 เซนติเมตร ยกเว้นพื้นที่บริเวณ PSN-1 ด้านทิศตะวันออกที่ต้องขุดขยายออกไป 90 เซนติเมตร บริเวณนี้เองที่ทำให้เราได้พบหลักฐานโครงกระดูกสุนัขในพื้นที่ S 3-4 E 16-17 ลึกจากระดับผิวดินประมาณ 180 - 210 เซนติเมตร (250 - 280 cm.dt.) วางตัวอยู่ตรงกับตำแหน่งโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 046 บริเวณใต้แขนข้างซ้าย แต่มีระดับความลึกใกล้เคียงกับโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 069 ซึ่งวางอยู่บริเวณใกล้ปลายเท้า โดยมีโครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ โครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 076, 070 และ 068
ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของความสัมพันธ์ระหว่างโครงกระดูกสุนัขกับหลักฐานทางโบราณคดี
จากการศึกษาการทับถมของชั้นดินหลังขุดค้นพบว่า ลักษณะหน้าตัดของดินใต้โครงกระดูกสุนัขเป็นเส้นโค้งคล้ายหลุม ซึ่งน่าจะเป็นภาพตัดขวางของหลุมฝังศพ โดยมีความลึกจากระดับมาตรฐานสมมติ 250 - 280 cm.dt. อยู่ใกล้กับหลุมฝังศพหมายเลข 069 ซึ่งมีความลึกจากระดับมาตรฐานสมมติ 210 - 250 cm.dt. จากหลักฐานวัตถุอุทิศที่พบบริเวณปลายเท้าของโครงกระดูกหมายเลข 069 และ 076 แสดงให้เห็นว่า มีพิธีกรรมการฝังศพที่วางเครื่องเซ่นไว้ที่ปลายเท้าจึงมีความเป็นไปได้ว่า โครงกระดูกสุนัขที่พบน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับหลักฐานหลุมฝังศพ โดยอาจเป็นเครื่องเซ่นสำหรับพิธีกรรมการฝังศพของโครงกระดูกมนุษย์ ที่ถูกฝังในตำแหน่งถัดออกไปทางทิศตะวันออกในผนังหลุม ซึ่งไม่ได้ขุดค้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้นจากหลักฐานข้างเคียง ซึ่งยังไม่สมบูรณ์มากนักเนื่องจากพื้นที่แวดล้อมโดยรอบของโครงกระดูกสุนัขไม่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดี จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจพบหลักฐานบางอย่างที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโครงกระดูกสุนัข ที่ยังถูกฝังอยู่ในชั้นดินข้างเคียงก็อาจเป็นได้
ลักษณะทางกายภาพ
การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงระหว่าง พุทธศักราช 2517 - 2518 โดยโครงการร่วมระหว่างกรม-ศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้พบโครงกระดูกคนราว 130 โครง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้นำไปวิเคราะห์จำนวน 127 โครง ผลการวิเคราะห์พบว่าสามารถแยกเพศได้ชัดเจนเพียง 93 โครง โดยมีโครงกระดูกผู้ชาย 54 โครง และผู้หญิง 39 โครง
ผู้ชายมีความสูงเฉลี่ยราว 165 - 175 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิงสูงเฉลี่ยราว 150 - 157 เซนติเมตร คนพวกนี้มีรูปร่างล่ำสัน แข็งแรง มีช่วงขายาว ใบหน้าค่อนข้างใหญ่ หน้าผากกว้าง สันคิ้วโปน กระบอกตาเล็ก โหนกแก้มใหญ่
คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงอายุไม่ยืนนัก โดยระยะสมัยต้นมีอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยประมาณ 27 ปี ส่วนระยะสมัยปลายมีอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยประมาณ 34 ปี โครงกระดูกส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยแสดงถึงการเสียชีวิตเนื่องจากบาดแผลร้ายแรง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงน่าจะมีชีวิตและสังคมที่สงบสุข
ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบนเนินดินบ้านเชียงเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้วนั้น เป็นกลุ่มชนที่พัฒนาแล้ว มีเทคโนโลยีการทำภาชนะดินเผา มีการเลี้ยงสัตว์บางชนิด ได้แก่ วัว หมู หมา และไก่ รวมทั้งยังทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว
การเพาะปลูกข้าวของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์รุ่นแรก ๆ ที่บ้านเชียงนั้น คงจะเป็นการทำนาหว่านในที่ลุ่มมีน้ำขัง ต่อมาในสมัยหลัง ๆ ราว 3,000 ปีมาแล้วจึงอาจพัฒนามาทำการเพาะปลูกข้าวโดยการทำนาดำในแปลงนาข้าวที่ต้องไถพรวนเตรียมไว้
นอกเหนือจากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงยังคงทำการล่าสัตว์ป่า และสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น เก้ง กวาง สมัน เสือ แรด หมูป่า นิ่ม ชะมด พังพอน นาก กระรอก กระต่าย จระเข้ เต่า ตะพาบ กบ ปลาดุก ปลาช่อน และหอยหลายชนิด ฯลฯ
จากหลักฐานทางด้านโลหกรรมที่บ้านเชียง พบว่าสำริดเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงและดีบุก ซึ่งเป็นโลหะที่ไม่มีอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณบ้านเชียงดังนั้นช่างสำริดที่บ้านเชียงจึงต้องได้โลหะทั้งสองชนิดนี้มาจากชุมชนอื่น อันแสดงให้เห็นว่าการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อไม่น้อยกว่า 4,000 ปีมาแล้ว
ร่องรอยของหลุมเสาบ้านที่พบชี้ให้เห็นว่าชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงนั้น ประกอบด้วย บ้านใต้ถุนสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลูกร่วมอยู่กันเป็นหมู่บ้านถาวรบนเนินดินสูงที่ล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม
ในด้านสังคมนี้คงจะมีผู้ชำนาญงานหรือช่างฝีมือในงานเฉพาะด้านบางด้านอยู่ด้วยอย่างน้อยก็พบหลักฐานว่า ในระยะแรก ๆ มีนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์ มีช่างทำภาชนะดินเผา และในระยะหลัง ๆ มีช่างโลหะสำริดและช่างเหล็กเพิ่มขึ้นมา
หลุมฝังศพหลายหลุมที่ได้พบว่ามีสิ่งของ เครื่องใช้สอย เครื่องประดับ ฝังอยู่ด้วยในปริมาณที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งเป็นของที่มีค่าต่าง ๆ กันแสดงให้เห็นว่าในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงน่าจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีฐานะแตกต่างกัน
พิกัดที่ตั้ง
N 17 24 27.979 E 103 14 15.32
หมายเหตุ
สามารถดาวน์โหลดชุดข้อมูลแหล่งมรดกโลกของไทย
ได้ที่ เว็บไซต์ (https://www.onep.go.th/thai-world-heritage/) หรือ กดที่นี่เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล
วันที่ขึ้นทะเบียน
1992 / 2535
คุณค่าความเป็นสากล
3 - เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
ข้อมูลที่อยู่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 41320
พื้นที่(ไร่) : พื้นที่นำเสนอ 187.5 ไร่ (30 เฮกตาร์) พื้นที่กันชน 4,750 ไร่ (760 เฮกตาร์)
ความสูงจากระดับน้ำทะเล (เมตร) :
แหล่งมรดกโลก
วัฒนธรรม
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ
เอกสารทั่วไป
2022-08-29 03:52:24 รายละเอียด
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
เอกสารทั่วไป
2022-08-29 03:52:05 รายละเอียด
แผนที่พื้นที่นำเสนอ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
เอกสารทั่วไป
2022-02-28 08:32:26 รายละเอียด
การสำรวจพื้นที่แหล่งโบราณคดีมรดกโลกบ้านเชียง และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
24/03/2021 - 26/03/2021
กธศ. โดยกลุ่มงานประสานการบริหารจัดการมรดกโลก ได้ติดตามสภาพพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ระหว่างวันที่ 24 - 26 มีนาคม 2564 เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมในการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกโลก และหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหา และ อุปสรรคในการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
กรมศิลปากร
รายละเอียดหัวหน้าหน่วยงาน : -
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ : -
ชื่อผู้ติดต่อ : -
หมายเลขติดต่อ : 0 2126 6252, 0 2126 6271
อีเมลสำหรับติดต่อ : manager@finearts.go.th, fad@saraban.mail.go.th
หน้าที่/ความรับผิดชอบ :
-
เว็บไซต์หน่วยงาน : https://www.finearts.go.th
ข้อมูลที่อยู่
เลขที่ 81/1 อาคารกรมศิลปากร ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10300