วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร)
2023-05-23 09:38:47
ประเภทของแหล่ง
วัฒนธรรม
กลุ่มของแหล่ง
แหล่งมรดกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ของศูนย์มรดกโลก
รายละเอียด
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์ บนคาบสมุทรมลายู ตั้งอยู่บนสันทรายโบราณนครศรีธรรมราชซึ่งเรียกว่า “หาดทรายแก้ว” อันเป็นเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชปัจจุบัน มีพัฒนาการจากสถานีการค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยแรกเริ่มบนคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อว่า “ตามพรลิงค์” หรือ “กะมะลิง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่มีชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา
สถานีการค้าชื่อ “ตามพรลิงค์” หรือ “กะมะลิง” พัฒนาขึ้นโดยลำดับ จนขึ้นเป็นรัฐในพุทธศตวรรษที่ 10 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 13-16 รัฐนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ “ศรีวิชัย” ซึ่งมีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นหลัก และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในเครือข่ายของโลกการค้าทางทะเลบนคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นปูชนียสถานที่เป็นหลักฐานการแลกเปลี่ยนคุณค่าทางจิตใจของมนุษย์มานานหลายศตวรรษ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14-16 และเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 18 ในฐานะเป็นจิตวิญญาณของอาณาจักรตามพรลิงค์ ที่ตั้งของวัดเดิมเรียกกันว่า “หาดทรายแก้ว” เป็นศูนย์กลาง (Heartland) ในสมัยตามพรลิงค์เมื่อพุทธศตวรรษ 11-16 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับช่วงที่ศาสนาพราหมณ์เจริญสูงสุด ในคาบสมุทรภาคใต้มีลักษณะเป็นสันทรายที่ทอดตัวจากทิศเหนือมาทิศใต้ เป็นที่ดอนซึ่งน้ำไม่ท่วม และเป็นแกนของภูมิทัศน์ชายฝั่งทะเล พื้นที่นี้จึงได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในท้องถิ่นกับความเชื่อในศาสนาดั้งเดิม รวมกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ 18
จากข้อมูลด้านศิลปกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พบว่ามีความเกี่ยวพันกับศิลปะลังกาถึงขั้นที่เรียกว่า “ถอดถ่าย” และพยายามสร้างให้เกิดลักษณะ “เป็นลังกา” ให้มากที่สุด บ่งถึงความเข้มข้นของกระแสพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกา ซึ่งเข้ามามีบทบาทในบ้านเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา นครศรีธรรมราชซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรภาคใต้นับเป็นอาณาบริเวณแรก ๆ ของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับเอาวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาสายนี้เข้ามา ดังนั้นจึงมีความใกล้เคียงทางด้านรูปแบบกับสถูปเจดีย์ในศิลปะลังกาครั้งพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ทั้งนี้รวมไปถึงร่องรอยความเป็นพระมหาสถูปนอกเมือง และเป็นศูนย์กลางพื้นที่กลุ่มพุทธสถานแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามระบบคิดในพระพุทธศาสนาของคณะมหาวิหารแห่งศรีลังกา
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นสัญลักษณ์สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม หรือพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์จากภูมิภาคเอเชียใต้ (โดยเฉพาะจากประเทศศรีลังกา) มาสู่ดินแดนศรีวิชัย ตามพรลิงค์ และดินแดนคาบสมุทรมลายูซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามหายานอยู่แต่เดิม ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาสายนี้ คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและพระเจ้าจันทรภาณุผู้ปกครองตามพรลิงค์ ทรงรับและอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทตามแบบลังกา มาเป็นศาสนาประจำรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยใช้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นหลักในการเสริมส่งและบ่มเพาะวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมให้ประดิษฐานอย่างมั่นคงบนคาบสมุทรไทย ทั้งยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้หลักปรัชญาของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมได้รับการขยายให้กว้างขวางในดินแดนอื่น เช่น ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง จนเป็นผลให้ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้หันมารับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครศรีธรรมราช ด้วยความศรัทธาจึงทำให้เกิดการถ่ายแบบหรือจำลองแบบไปสร้างยังที่ต่าง ๆ จำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือเจดีย์ในวัดวาอารามหลายแห่งในภาคใต้ที่มีประวัติการสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เจดีย์บางองค์ในกรุงศรีอยุธยาที่อาจเกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุเจดีย์ ความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาในพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้จำลองพระบรมธาตุเจดีย์มาสร้างไว้ที่ด้านใต้ของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งยังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีภาพพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระปฐมเจดีย์ด้วย
การจำลองแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชไปใช้ มิได้หมายความว่าต้องมีขนาดและรูปแบบที่เหมือนกับต้นแบบทุกประการ แต่ได้แสดงลักษณะเด่นของพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อนำไปถ่ายทอด แม้ว่าเจดีย์ที่จำลองหรือถ่ายแบบมาอาจมีรูปแบบที่แตกต่างบ้าง แต่องค์ประกอบหลักที่ต้องมีเสมอ คือฐานประทักษิณสูง มีช้างล้อม เป็นทรงกลมเน้นองค์ระฆังที่มีขนาดสูงใหญ่ การถ่ายแบบหรือจำลองแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชไปสร้างยังที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างจากต้นแบบมากเพียงใด ย่อมสะท้อนถึงทัศนะของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาต่อพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมากเพียงนั้น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจึงเป็นตัวอย่างเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ในคาบสมุทรมลายู ซึ่งแสดงถึงทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารยังเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของประชาชนในภาคใต้อย่างต่อเนื่องหลายศตวรรษ จากจารึกและเครื่องพุทธบูชาที่มีจำนวนมากทำให้เห็นว่าวัดพระพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับการศรัทธาและใส่ใจจากผู้คนทุกชนชั้นในสังคม เห็นได้จากประเพณีที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่บริเวณรายรอบพระบรมธาตุเจดีย์ เช่น การแห่ผ้าขึ้นธาตุในเดือนสามและเดือนหก การยกหมฺรับในเดือนสิบ และการลากพระในเดือนสิบเอ็ด ยิ่งกว่านั้นพระบรมธาตุเจดีย์ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโคลงกลอนและศิลปะการแสดงในภูมิภาคนี้มายาวนาน ทำให้พิจารณาว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีชีวิตยาวนานที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิธีกรรมในการสร้างบุญกุศลที่ถือว่าเป็นงานพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” หมายถึงการนำผ้าผืนยาวขึ้นไปพันห่มรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของทุกปี อาทิ วันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งในท้องถิ่น จากภูมิภาคอื่นของประเทศไทย และทั่วโลก ได้เดินทางเข้ามาสักการะพระบรมธาตุเจดีย์โดยการจัดขบวนนำผ้าพระบฏแต่ละผืนมาต่อเรียงกันอย่างยาวเหยียด เพื่อนำไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พุทธศาสนิกชนจำนวนนับแสนคนเข้าร่วมพิธีทุกปี สะท้อนถึงความศรัทธาที่มีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนที่สืบทอดผ่านกาลเวลาอันยาวนาน
การที่วัฒนธรรมการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นสื่อกลางรวมแรงศรัทธาของมหาชนจรรโลงพระพุทธศาสนาแทนวิธีการใช้อำนาจทางอาณาจักรของผู้ครองนคร น่าจะเป็นคำตอบที่ดีแก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีว่าเหตุใดภาคใต้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่รุ่งโรจน์มาหลายพุทธศตวรรษ แต่ไม่มีศาสนาสถานที่มีขนาดโอฬาริก อย่างเช่นที่บุโรพุทโธ หรือนครวัด ก็เพราะบรรดาเครื่องบูชาพระบรมธาตุที่เป็นสิ่งของสูงค่าและหลากหลายมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พฤติกรรมการปฏิบัติบูชาต่าง ๆ ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันล้วนเกิดแด่ศรัทธาอันบริสุทธิ์ใจตามพลังมโนคติของแต่ละคน มิได้เกิดเพราะถูกบังคับกดขี่แต่อย่างใด จริงอยู่แม้ว่าการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มิได้จำเพาะแต่พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้เท่านั้น แต่ก็ไม่มีแห่งใดจะฝังลึกอยู่ในศรัทธาปสาทะของชาวพุทธเหนียวแน่นและพิสดารเท่าที่นี่ การแสดงออกทางความคิดเช่นนี้ เป็นการหลอมรวมสัญลักษณ์อันเป็นธรรมชาติของคนในพื้นที่ แรงบันดาลใจทางศาสนา และความสามารถในการบริหารจัดการของเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งก่อให้เกิดบรรทัดฐานหรือมาตรฐานในการรักษาและขยายศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางไปทั่วทุกพื้นที่ ทั้งในศตวรรษนี้และศตวรรษต่อๆไป
ด้วยความศรัทธาของมหาชนที่มีต่อพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นประธานของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จึงทำให้เกิดการถ่ายแบบหรือจำลองไปสร้างยังที่อื่น ๆ จำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือเจดีย์ในวัดอารามหลายแห่งในภาคใต้ที่มีประวัติการสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สถาปัตยกรรมเจดีย์ในกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุเจดีย์โดยเฉพาะเจดีย์ที่มีช้างล้อม ความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาต่อพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชยังเป็นแรงจูงใจสำคัญให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯให้จำลองพระบรมธาตุเจดีย์มาสร้างไว้ที่ด้านใต้ของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งยังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งการปรากฏภาพพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระปฐมเจดีย์ด้วย
พิกัดที่ตั้ง
N 8 24 47.7 E 99 57 55.5
หมายเหตุ
สามารถดาวน์โหลดชุดข้อมูลแหล่งที่บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
ได้ที่ https://www.onep.go.th/tentative-list/
วันที่ขึ้นทะเบียน
2012 / 2555
คุณค่าความเป็นสากล
1 - เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด
2 - แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
6 - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์
ข้อมูลที่อยู่
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
พื้นที่(ไร่) : -
ความสูงจากระดับน้ำทะเล (เมตร) : -
แหล่งมรดกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ของศูนย์มรดกโลก
วัฒนธรรม
สำรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่ มและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในการจัดเตรียมเอกสารการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมวัดพระธาตุมหาวรมหาวิหาร
29/03/2023 - 01/04/2023
กธศ. โดยกลุ่มงานประสานการบริหารจัดการมรดกโลก ได้สำรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่ มและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในการจัดเตรียมเอกสารการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมวัดพระธาตุมหาวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นมรดกโลก ระหว่างวันที่ ๒๙ มีนาคม - ๑ เมษายน ๒๕๖๖