กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด
กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง)
2023-05-23 09:39:14
ประเภทของแหล่ง
วัฒนธรรม
กลุ่มของแหล่ง
แหล่งมรดกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ของศูนย์มรดกโลก
รายละเอียด
ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานศิลปะแบบเขมรในประเทศไทยที่มีความงดงามและมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย กลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 - 18 ชื่อ “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ โดยคำนี้ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทพนมรุ้ง และยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ “นเรนทราทิตย์” เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระผู้เกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์ปราสาทพนมรุ้งโดยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทพนมรุ้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 และได้ดำเนินการบูรณะปราสาทระหว่าง พุทธศักราช 2514 - 2531 ต่อมาได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน เนื้อที่ 451 ไร่ 11 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 141 วันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2519 และกรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้นและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พุทธศักราช 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่บริเวณบ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ มีลักษณะเป็นศาสนสถานประจำเมืองหรือชุมชน จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในละแวกนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่น ชุมชนบ้านโคกเมือง โคกยายคาน โคกสลองตอง เป็นต้น โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดิน เครื่องถ้วยชามเคลือบสีน้ำตาลและเคลือบสีเขียว เป็นจำนวนมาก
หลักฐานเหล่านี้แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีอายุใกล้เคียงกับการสร้างปราสาท ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบคลัง และบาปวน กำหนดอายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว ตำแหน่งที่ตั้งของปราสาทเมืองต่ำ อยู่บนเส้นทางอารยธรรมขอมจากเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา ขึ้นสู่ทางเหนือผ่านเทือกเขาพนมดงรัก ผ่านกลุ่มปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ ผ่านปราสาทเมืองต่ำสู่ปราสาทพนมรุ้ง ไปยังปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อาจกล่าวได้ว่าชุมชนโบราณที่ปราสาทเมืองต่ำมีความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียง บนเส้นทางอารยธรรมขอมจากเมืองพระนคร สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบศิลปะเขมรโบราณที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ ปรากฏให้เห็นจากรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ภาพสลัก การเลือกทำเลที่ตั้งบนยอดเขาซึ่งมีแผนผังตามแนวแกนที่มีองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน
ปราสาทพนมรุ้งเป็นที่รู้จักของชาวท้องถิ่นเป็นอย่างดี โดยมีนิทานพื้นบ้านเรื่อง “อินทรปรัสถา” กล่าวถึงคู่พระคู่นางซัดเซพเนจรมาพบที่พักพิงซึ่งเป็นปราสาทหินรกร้างงดงามอยู่กลางป่าเขา แต่สำหรับบุคคลภายนอก ปราสาทแห่งนี้เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากบันทึกของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ (Etienne Aymonier) ชาวฝรั่งเศส ในปีพุทธศักราช 2428 ตีพิมพ์เป็นบทความในปี พุทธศักราช 2445
ปีพุทธศักราช 2449 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทพนมรุ้ง คราวเสด็จมณฑลอีสาน และเสด็จอีกครั้งในปี พุทธศักราช 2472 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478
และปีพุทธศักราช 2503 – 2504 ได้ดำเนินการสำรวจปราสาทพนมรุ้งอีกครั้ง ต่อมาในปี พุทธศักราช 2514 ได้เริ่มดำเนินการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ด้วยวิธี “อนัสติโลซิส” (Anastylosis คือการนำชิ้นส่วนของปราสาทกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม) และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
ชื่อของปราสาทพนมรุ้ง เป็นชื่อดั้งเดิมของโบราณสถานแห่งนี้ คำว่า พนมรุ้ง ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K.1090 จารึกว่า พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถานที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง ซึ่งมีผู้ปกครองหรือข้าราชการได้จัดหามาถวายในลักษณะเป็นกัลปนาของเทวสถาน
จากหลักฐานทางด้านศิลาจารึกและงานศิลปกรรมที่ปรากฏ กล่าวได้ว่า ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นิกายปศุปตะ โดยนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 มีเนื้อความเริ่มต้นเป็นบทสรรเสริญพระศิวะ ศิลาจารึกบางหลักกล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์ สร้างรูปทองคำของพระศิวะในท่าฟ้อนรำ สร้างรูปทองคำของพระวิษณุขึ้นในเรือนของพระศิวะ
ปราสาทแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ พระองค์มีที่ประทับอยู่บนเขาไกรลาส ดังนั้นการสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นบนยอดเขา จึงเป็นการสะท้อนถึงการจำลองที่ประทับของพระศิวะมาไว้บนโลกมนุษย์
อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียวกัน ในช่วงแรกได้มีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชนขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ได้แก่ ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานและกรอบประตู หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ โดยอาณาจักรเขมรโบราณ หรือผู้นำที่ปกครองชุมชน อันมีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง
ปราสาทพนมรุ้ง คงมีความสำคัญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พุทธศักราช 1511 - 1544) พระองค์ทรงนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เช่นเดียวกับพระราชบิดา (พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2) นอกจากจะมีพระราชโองการให้สร้างจารึกเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระราชบิดาแล้ว ยังทรงถวายที่ดินให้กับเทวสถานด้วย ในสมัยนี้เองเทวสถานบนเขาพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบอย่างแท้จริง จากข้อความในจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งแสดงให้เห็นว่าเทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ คือ ศิวลึงค์ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีที่ดินซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าชัยวรมันที่ 5) และข้าราชการระดับต่าง ๆ ถวายหรือซื้อถวายให้กับเทวสถาน พร้อมกับมีพระราชโองการให้ปักหลักเขตที่ดินขึ้นกับเทวสถานเขาพนมรุ้ง พร้อมกับการสร้างเมือง สร้างอาศรมให้กับโยคี และนักพรตด้วย
ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานขึ้น จากการศึกษาศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 กล่าวว่าปราสาทประธานสร้างขึ้นในสมัย “นเรนทราทิตย์” ท่านเป็นโอรสของพระนางภูปตีนทรลักษมี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีความสามารถในการรบ ได้เข้าร่วมกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นจากศึกสงคราม นเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ ทรงได้ดำเนินการสร้างปราสาทหลังใหญ่ขึ้นประดิษฐานรูปเคารพ สร้างงานศิลปกรรมปรากฎเป็นงานสลักตามส่วนต่างๆ ที่ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า มีความประสงค์ที่จะสร้างเทวสถานแห่งนี้เป็นเทวาลัยของพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธานและยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ แต่อยู่ในสถานะเทพชั้นรอง นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏขึ้นในจารึกยังแสดงให้เห็นว่า นเรนทราทิตย์ ได้สร้างปราสาทแห่งนี้เพื่อประดิษฐานรูปเคารพของตนเอง เพื่อเตรียมไว้สำหรับการเข้าไปร่วมกับเทพที่ทรงนับถือหลังจากสิ้นพระชนม์ ความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนา ทำให้ท่านออกบรรพชาถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย ข้อความที่ปรากฏในจารึกพนมรุ้ง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ท่านคงเป็นนักพรตในลัทธิไศวนิกาย ตามแบบนิกายปศุปตะที่มีการนับถือกันมาแล้วแต่เดิม โอรสของนเรนทราทิตย์ คือ หิรัณยะ เป็นผู้ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดา และได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำ
สิ่งก่อสร้างสมัยสุดท้าย คือ บรรณาลัย และพลับพลา ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมซ่อมแซมขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 - 1763) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทรงโปรดให้สร้างอโรคยศาล จำนวน 102 แห่ง และที่พักคนเดินทาง หรือธรรมศาลา จำนวน ๑๒๑ แห่ง ขึ้นในดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหม และจารึกปราสาทพระขรรค์ตามลำดับ โบราณสถานดังกล่าวนี้ ที่อยู่ใกล้เคียงปราสาทพนมรุ้ง ได้แก่ กุฏิฤๅษีโคกเมือง และกุฏิฤๅษีหนองบัวราย ซึ่งเป็นอโรคยศาล และปราสาทบ้านบุ เป็นที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลา
ปราสาทเมืองต่ำ
ตั้งอยู่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ตัวปราสาทและหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลมอยู่สูงกว่าระดับพื้นชายเนินที่เป็นท้องนาประมาณ 1-2 เมตร ที่ตั้งของตัวปราสาทปัจจุบันมีวัดปราสาทบูรพารามอยู่ทางทิศตะวันออก ทางทิศเหนือมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือบารายซึ่งเรียกกันว่า ทะเลเมืองต่ำ กว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนของราษฎร
แหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อบ้านโคกเมือง ได้แก่ ทะเลเมืองต่ำและลำห้วยปูน ซึ่งเป็นสาขาของห้วยประเทียอยู่ทางทิศเหนือ ห้วยน้ำขุ่นอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งต่างเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษที่ 83 ง วันที่ 21 กันยายน 2541 เนื้อที่ 538 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา (ร่วมกับบารายเมืองต่ำ)
ภายหลังจากอาณาจักรกัมพูชาเสื่อมลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้ศาสนสถานอิทธิพลวัฒนธรรมของขอมเสื่อมโทรม ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง เช่นเดียวกับปราสาทเมืองต่ำที่ถูกทิ้งร้างไปเป็นระยะเวลายาวนาน
จนกระทั่งถึงสมัยล่าอาณานิคม นักสำรวจและนักวิชาการชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกการสำรวจ ดินแดน และร่องรอยของศาสนสถานต่างๆ ไว้ ชื่อ “ปราสาทเมืองต่ำ” ได้ปรากฏในรายงานการสำรวจ เมื่อปี พุทธศักราช 2444 และ พุทธศักราช 2450 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมืองว่า ชื่อ “เมืองต่ำ” อาจจะกำหนดเรียกโดยเปรียบเทียบสภาพที่ตั้งกับปราสาทพนมรุ้งซึ่งอยู่บนยอดเขา
ปี คริสต์ศักราช 1910 จากหนังสือ Le Cambodge Tome II ผู้เขียนคือ Aymonier, E. หน้า 131 กล่าวว่า
“ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองประโคนชัย 2 – 3 โยชน์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และจากเขาพนมรุ้ง 1 โยชน์ ไปทางใต้ จากเขาพนมได (Phnom Dei) (เขาปลายบัดปัจจุบัน) 1 โยชน์ทางทิศตะวันออก ชื่อเมืองต่ำนี้เป็นภาษาไทย ดูจะเป็นกรณีไม่ปกติสำหรับท้องที่ที่ชาวบ้านพูดเขมรตรงกับคำว่า NOKOR TEAP หรือ BANTEAI TEAP อาจเป็นเพราะชื่อนี้ถูกเรียกโดยฝั่งตรงข้ามอย่างดูถูกที่อาจอาศัยอยู่ที่เมืองสูงใกล้พนมรุ้ง ก่อนอื่นที่เราจะพบกับบารายขนาดใหญ่เรียกว่า ละหาน หรือ ทะเล ที่ไม่ได้ถูกขุดขึ้นทางทิศตะวันออก แต่กลับเป็นทางทิศเหนือ วัดขนาดได้ 550 x 1,200 เมตร มีขอบเป็นคันดินยกสูงโดยรอบกว้าง 40 เมตร ลำธารที่พักจะแห้งในหน้าแล้งไหลมาจากพนมได เข้าสู่บารายที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือและไหลออกไปอีกครั้งที่มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีประตูน้ำที่เป็นตัวควบคุมระดับของน้ำ หรือแม้แต่ใช้ปล่อยน้ำออกเพื่อให้จับปลาได้ง่ายขึ้น
ด้วยระยะ 100 เมตร ไปทางใต้ของบารายเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่เรียกในปัจจุบันว่าเมือง หรือ กำแพง มีต้นไม้จำพวกมะม่วง มะพร้าวขึ้นอยู่ แสดงถึงการเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเมื่อประมาณ 1 หรือ 2 ชั่วอายุคนมาแล้ว แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ากลายเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังและรกร้างปราศจากผู้คน กำแพงแก้วชั้นนอกเป็นศิลาแลงสูง 3 เมตร ล้อมรอบบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 160 เมตร แนวตะวันออก – ตะวันตก และ 120 เมตรในแนวเหนือ – ใต้ เจาะช่องเป็นประตูขนาดใหญ่ตรงแกนหลักทั้งสี่ด้าน ภายในระหว่างกำแพงแก้วและศาสนสถาน เป็นที่ตั้งของสระน้ำรูปมุมฉากกว้าง 10 เมตร บุสระสี่ด้วยศิลาแลงเรียงเป็นรูปขั้นบันได มีทางเดินตามแนวแกนไปจบที่ส่วนกลางของทุกด้าน ทางเดินทางทิศเหนือมีบ่อน้ำขนาดเล็กลึก ๑ เมตร บุด้านศิลาแลง ปัจจุบันไม่มีน้ำขังอยู่
ตัวอาคารซึ่งยกระดับสูงขึ้นตั้งบนกำแพงกันดินสูง 1 เมตร รวมประตูทางเข้าขนาดใหญ่ทางด้านตะวันออก ขนาบข้างด้วยระเบียงคดที่กินพื้นที่เต็มทั้งด้าน มีประตูขนาดเล็กอีก 2 ประตู แยกอยู่ทางด้านทิศเหนือและใต้ ส่วนทางด้านตะวันตกมีเพียงบันไดทางขึ้น และปราสาทอิฐ 5 องค์ที่มีขนาดแตกต่างกัน องค์กลางผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชาวพื้นเมืองเรียกว่าพระวิหาร ประติมากรรมมีอยู่เป็นจำนวนมากในโบราณสถานที่อยู่ในสภาพปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่แห่งนี้”
ในปี คริสต์ศักราช 1907 จากข้อเขียนเรื่อง Inventaire Descriptif Des Monuments Du Cambodge Tome II เขียนโดย Delajonguiere,E.Lunet. มี Ernest Leroux เป็นบรรณาธิการ หน้า 215 – 238 ความว่า
"เมืองต่ำ (MOEUONG TAM) ที่เรียกเช่นนี้อาจจะเนื่องมาจากสภาพที่ตั้งเมื่อเปรียบเทียบกับปราสาทพนมรุ้ง น่าแปลกที่มีชื่อเรียกเป็นไทย ทั้งที่ตั้งอยู่ในท้องที่ที่หมู่บ้านส่วนใหญ่ยังมีชื่อเป็นเขมร แต่อย่างไรก็ไม่สำคัญขนาดเอามาพิจารณาถึงความสำคัญระหว่างสองปราสาทนี้
ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่ทางใต้ของบารายใหญ่ที่โดนถมไปบางส่วนประกอบด้วย
1. กลุ่มปราสาท สิ่งก่อสร้าง 5 หลังสร้างด้วยอิฐ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในแถวหน้ามีปราสาท 3 องค์เรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ ส่วนแถวหลังมีปราสาทอีก 2 องค์ ตั้งสับหว่างอยู่ ปราสาทเหล่านี้เป็นแบบธรรมดาสามัญมากเมื่อพิจารณาจากทุกแง่ องค์กลางอยู่แถวหน้ามีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นๆ อาจมีมุขยื่นตรงประตูด้านหน้าสร้างอยู่บนฐานศิลาแลงที่ยกสูงกว่าองค์อื่นๆในกลุ่ม นี่คือทั้งหมดที่เห็นได้เนื่องจากอยู่ในสภาพปรักหักพัง และยังถูกแก้ไขดัดแปลงเอาวัสดุจากซากโบราณสถานไปใช้โดยคนพื้นเมือง
ส่วนประกอบของอาคารล้อมรอบ อยู่ในสภาพที่ดีกว่า มีความละเอียดลออแต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ทับหลังเป็นแบบธรรมดาเห็นได้ทั่วไปเป็นแบบที่ 3 มีการเล่าเรื่องดังนี้
1. องค์ทางเหนือของแถวหน้าสลักรูปพระสิวะ นางปาวตีและโคนันทิ (อุมามเหศวร)
2. องค์ทางใต้แถวหน้า เป็นรูปบุคคลไม่แน่ว่าเป็นใคร
3. องค์ทางใต้แถวหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ (พระวรุณ)
4. องค์ทางเหนือแถวหลังเป็นรูปบุคคลไม่แน่ว่าเป็นใคร
2. ระเบียงคดชั้นใน ล้อมรอบกลุ่มปราสาท 5 องค์ ถูกสร้างขึ้นไปบางส่วน ผนังยังไม่เสร็จจนถึงชั้นที่ต่อกับโค้งประทุนที่ทำหลังคา เป็นระบบของระเบียงคดแคบๆ ด้านนอกเป็นผนังตันเต็มๆ เปิดเป็นช่องหน้าต่างจำนวนมากหันเข้าลานโล่งด้านใน ตรงกลางของระเบียงคดทั้งสี่ด้านเป็นที่ตั้งของโคปุระ มีเพียงสามด้านที่สร้างเสร็จคือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ โดยด้านที่สี่เพิ่งจะเริ่มลงมือ
ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ สร้างจากศิลาทรายเหมือนกับระเบียงคดแต่มีผนังปิดล้อมเป็นห้องเฉพาะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเปิดออกสู่ทางด้านยาวทั้งสองด้าน โดยมีประตูที่ยื่นออกไปเป็นมุขที่การก่อสร้างประณีตมาก การตกแต่งทั่วไปเป็นแบบธรรมดา ทับหลังเป็นแบบที่ 3 ที่มีการดัดแปลงเล็กน้อย ปรากฏภาพบุคคลต่างๆที่ส่วนใหญ่จะระบุไม่ได้ว่า คือใคร ที่พบจะชัดเจนที่สุดก็มีเพียงที่ประตูทางทิศตะวันออก ด้านในของโคปุระตะวันออก เป็นรูปลิงเล่นกับนาค (กฤษณะปราบนาคกาลิยะ)
โบราณสถานทั้งหมดตั้งอยู่บนเนินสูงกว่าบริเวณโดยรออบ โดยได้ทำเป็น กำแพงกันดินที่มีลวดบัวประดับเป็นฐาน หน้าต่างจริงหน้าต่างหลอกมีขนาดใหญ่และประดับด้วยลูกมะหวด 7 ต้น
3. สระน้ำภายใน ระเบียงคดชั้นในถูกล้อมรอบด้วยสระน้ำรูปมุมฉากกว้างประมาณ 15 เมตร เว้นช่วงกลางของแต่ละด้านด้วยทางเดินกว้าง 10 เมตร ที่เข้าสู่โคปุระชั้นใน ทำให้แบ่งเป็นสระอยู่ตรงมุม 4 สระ ขอบสระชั้นบนทำด้วยศิลาทรายเป็นรูปลำตัวนาค ซึ่งส่วนหัวยื่นออกหรือหันเข้าสู่ส่วนมุม
4. กำแพงแก้วชั้นนอก เป็นกำแพงศิลาแลงที่มีการประดับส่วนกำแพงสูง 3.75 เมตร ล้อมรอบกลุ่มอาคารภายในเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงส่วนกลางแต่ละด้านเป็นที่ตั้งของโคปุระขนาดใหญ่สร้างด้วยศิลาทราย มีประตุทางเข้า 3 ประตู ทางเข้าตรงกลางผ่านห้องซึ่งเป็นรูปกากบาท จากการที่มุขยื่นออกมาทั้งสองด้าน ขณะที่ห้องด้านข้างที่ยังคงติดต่อได้กับห้องกลางได้กลายเป็นทางเข้ารอง โดยที่ส่วนประตูไม่มีมุขยื่น ตัวอาคารได้รับการออกแบบในสัดส่วนที่ใหญ่โตด้วยความประณีต ทั้งในฝีมือการก่อสร้าง แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ เช่น ส่วนหลังคาซึ่งเริ่มทำ เพียงบางส่วน การประดับประดาก็ยังคงค้างไม่เสร็จหรือแม้แต่ยังไม่ได้โกลนขึ้นรูปในบางจุด
รูปด้านตะวันออกของกำแพงแก้วทิศตะวันออกเหมือนรูปแบบปกติ พื้นที่ทางด้านหน้าลดระดับลงไปทำเป็นฐานที่มีลวดบัวและบันไดทางขึ้น ส่วนมุขยื่นด้านนอกของโคปุระด้านนี้พังทลายลงหมด แต่เราอาจสามารถพบทางเดินปูพื้นหิน ประกอบเสานางเรียงต่อยาวไปทางด้านหน้า”
พุทธศักราช 2472 เริ่มมีการสำรวจโดยเจ้าหน้าชั้นสูงของไทย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ ทอดพระเนตรปราสาทเมืองต่ำในคราวเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถานในมณฑลราชสีมา
พุทธศักราช 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำและประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานเมื่อปี พุทธศักราช 2541
พุทธศักราช 2530- 2539 กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองต่ำ ด้วยวิธีอนัสติโลซิส พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจนเสร็จสมบูรณ์
พุทธศักราช 2540 กรมศิลปากรได้กราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดปราสาทเมืองต่ำอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 เนื่องในมหามงคลสมัยแห่งปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
การอนุรักษ์ปราสาทเมืองต่ำ
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๘๗ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 23 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2578 และได้จัดทำโครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้โบราณสถานกลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ให้คงอยู่เป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นต่อๆ ไปและเปิดให้เป็นแหล่งทัศนศึกษา โดยเริ่มจากการขุดแต่งหาหลักฐานเมื่อ พุทธศักราช 2531 และ 2532 รวมทั้งการขุดตรวจทางโบราณคดี
หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการบูรณะใน พุทธศักราช 2533 โดยใช้วิธีอนัสติโลซีส สำหรับโบราณสถานที่สร้างด้วยหิน ส่วนปราสาทอิฐไม่สามารถรื้อออกประกอบใหม่ได้เช่นที่ทำกับหิน จึงทำการบูรณะเสริมความมั่นคงเท่าที่สามารถทำได้ เช่น รื้อฐานศิลาแลงส่วนที่ทรุดออกแล้วหล่อคอนกรีตเสริมส่วนฐานที่ทรุดเอียงแล้วเรียงศิลาแลงกลับเข้าที่เดิม ส่วนที่ชำรุดไม่มากก็ใช้วิธีรื้อออกแล้วเรียงใหม่ให้เข้ามุมเข้าฉากตามรูปเดิม อิฐที่ผุและเลื่อนออกก็รื้อเฉพาะส่วนมาทำความสะอาดแล้วจึงเรียงกลับเข้าไปใหม่ พร้อมทั้งใช้อิฐใหม่เสริมในส่วนที่จำเป็นเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างโดยเสริมคานคอนกรีต ส่วนบนของปราสาทที่พังทลายเกิดเป็นช่องโหว่ ใช้แผ่นคอนกรีตปิดทับแล้วเรียงอิฐปิดอีกชั้นหนึ่ง ส่วนฐานและองค์ปราสาทที่มีรอยแตกแยกทำการเจาะเย็บซ่อมรอยแยก ทับหลังที่ร่วงหล่นลงมายกขึ้นกลับไปติดตั้งที่เดิมโดยหล่อคานคอนกรีตรับน้ำหนัก และสกัดหินเป็นเสาแปดเหลี่ยมรองรับทับหลังในกรณีที่ไม่มีเสาเดิมเหลืออยู่
ส่วนอาคารที่สร้างด้วยหินทรายทำการบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) คือ รื้อถอดชิ้นส่วนของเดิมลงมาจนถึงฐานรากโดยเขียนรหัสกำกับไว้ทุกก้อน รวมทั้งลงไว้ในแผนผัง ชิ้นส่วนที่พังลงมาแล้วก็ทำเช่นเดียวกันเพื่อจะได้นำกลับมาเรียงไว้ในที่เดิมได้อย่างถูกต้อง จากนั้นเสริมความแข็งแรงของฐานรากโดยบดอัดดินฐานรากเสียใหม่แล้วเสริมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เสร็จแล้วนำชิ้นส่วนกลับมาเรียงประกอบเข้าที่เดิมตามลักษณะและรูปแบบเดิม
การบูรณะรวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ปราสาทเมืองต่ำแล้วเสร็จใน พุทธศักราช 2539 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเป็นประธานในวันที่ 10 ตุลาคม 2540
ศิลปะและสถาปัตยกรรม
ปราสาทเมืองต่ำเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเป็นอย่างสูง ก่อสร้างด้วยวัสดุ 3 ชนิด คือ อิฐ ศิลาแลง และหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่กว้างประมาณ 120 เมตร ยาวประมาณ 127 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ดังนี้ คือ
- กำแพงแก้วและซุ้มประตู
- สระน้ำ
- ระเบียงคดและซุ้มประตู
- บรรณาลัย
- ปราสาทอิฐ 5 องค์
- บาราย (ทะเลเมืองต่ำ)
พิกัดที่ตั้ง
N 14 31 55 E 102 56 24.98
หมายเหตุ
สามารถดาวน์โหลดชุดข้อมูลแหล่งที่บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
ได้ที่ เว็บไซต์ (https://www.onep.go.th/tentative-list/) หรือ กดที่นี่เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล
วันที่ขึ้นทะเบียน
2019 / 2562
คุณค่าความเป็นสากล
3 - เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
4 - เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
5 - เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลที่อยู่
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ 31110
ปราสาทเมืองต่ำ จรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 31140
พื้นที่(ไร่) :
ความสูงจากระดับน้ำทะเล (เมตร) :
แหล่งมรดกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ของศูนย์มรดกโลก
วัฒนธรรม